จับคู่ธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ ตอน เรียนไปด้วยกัน รู้ไปได้ไกล
จับคู่ธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ ตอน เรียนไปด้วยกัน รู้ไปได้ไกล (อ่าน 0/ตอบ 0)
ที่ผ่านมา ร้านลูกปัดได้เข้าร่วมโครงการของ TCDC โครงการจับคู่ธุรกิจ กับนักออกแบบ นี่คือบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับโครงการที่ผ่านมาค่ะ ถ้าผู้ประกอบการท่านใดสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ สามารถสมัครได้ผ่าน www.tcdcconnect.com August 15, 2011เรื่อง : อนุธิดา หงษ์สิบเจ็ด “โอกาสสำหรับนักออกแบบตัวเล็กๆ” คือ กุญแจสำคัญที่ช่วยจุดประกายให้วงการออกแบบพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต โครงการจับคู่ธุรกิจฯ จังหวัดเชียงใหม่ จึงเป็นเหมือน “เวทีแห่งโอกาส” ที่นักศึกษาแขนงศิลปะและการออกแบบหลายๆ คน จะได้แสดงศักยภาพของตนสู่สายตากลุ่มผู้ประกอบการ งานนี้ ผู้ประกอบการที่มาร่วมสานต่อโอกาสรายหนึ่งก็คือ คุณเมสิณี เทพดา (หรือ “พี่เม” ของน้องๆ) ปัจจุบัน เธอเป็นเจ้าของร้านลูกปัด (กาดหลวง) ที่รวบรวมอุปกรณ์ร้อยลูกปัดไว้ครบที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ในวันนั้น คุณเมสิณีหอบหิ้วลูกปัดมาเต็มกระบุงเพื่อชวนให้กลุ่มนักศึกษาได้มาเริ่มเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเธอ
“ที่ผ่านมา เราพยายามที่จะทำงานร่วมกับดีไซเนอร์หลายครั้ง แต่ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจกันทั้งในแง่ของการผลิตและการตลาด การทำงานก็เลยไม่ค่อยราบรื่น บางครั้ง เขาผลิตออกมาแต่เราขายไม่ได้ มันก็เป็นปัญหา ไม่ใช่ว่าเขาผลิตแบบไม่ดูตลาดเลยนะ แต่เมว่า เขาอาจจะมองตลาดคนละแบบกับเรา เพิ่งมาช่วงหลังที่เราเข้าร่วมกับหลายๆ โครงการ อย่างเช่น ของ TCDC เมคิดว่า มันทำให้เราสื่อสารกับนักออกแบบได้ดีขึ้นค่ะ” การจับคู่ธุรกิจครั้งนี้ทำให้คุณเมได้พบกับสองนักศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันได้แก่ บุษบา บุญชวน และ พิชญา รมณีย์จิตโต ปิดท้ายขบวนด้วยสาวน้อยจากคณะคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คือ พรพิมล โพธิเสาร์ ซึ่งทั้งสามพกความสนใจในงานถักเชือกเทียนและร้อยลูกปัดมาเต็มเปี่ยม นับจากนั้น “ห้องเรียนเล็กๆ” ในร้านลูกปัดที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศการเรียนรู้และความสัมพันธ์แบบพี่น้องก็เกิดขึ้น คุณเมบอกว่า เธอไม่คิดจะกดดันหรือคาดหวังผลงานที่ดีที่สุดจากนักออกแบบรุ่นแรก แต่สิ่งที่เธอมองหาคือ “ไอเดียสดใหม่” ที่เธอจะนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ในวันหน้า ตลอดกระบวนการทำงานนี้ คุณเมจึงให้อิสระกับการออกแบบและสนับสนุนเรื่องวัสดุอุปกรณ์อย่างเต็มที่
ทางฝั่งของนักออกแบบมือสมัครเล่นทั้งสามคน ทุกคนต่างก็ได้แสดงฝีมือและความทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ ความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเธอเผยโฉมออกมาเป็น “ชุดเครื่องประดับจากลูกปัด” ที่มีทั้งสร้อยคอชุดใหญ่ ต่างหู แหวน และสร้อยข้อเท้า ซึ่งคุณเมก็ยินดีนำผลงานของทุกคนบรรจุลงในคอลเล็กชั่น (พร้อมทั้งให้เครดิตกับนักออกแบบแต่ละคนด้วย) ผู้ประกอบการบางรายอาจคิดว่า การร่วมงานกับนักศึกษาอาจไม่ได้ผลงานที่เป็นรูปธรรม เพราะการทำงานที่ยังไม่เป็นมืออาชีพ แต่สำหรับคุณเมเธอคิดว่าเลือกไม่ผิด
การเปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาได้ทำงานจริงในแบบของคุณเมสิณีนี้ ถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในขั้นต้นระหว่างนักออกแบบหน้าใหม่กับผู้ประกอบการ นำมาซึ่งไอเดียสร้างสรรค์สดใหม่มากมายที่ฝ่ายผู้ประกอบการไม่เคยคิด ในขณะที่ทางฝั่งนักศึกษานั้นก็ได้รับประสบการณ์การทำงานแบบมืออาชีพ จึงเรียกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง (หากไม่ตีค่ากันด้วยเงินตรา)
0 Like |
ABOUT THE AUTHOR
Hello We are OddThemes, Our name came from the fact that we are UNIQUE. We specialize in designing premium looking fully customizable highly responsive blogger templates. We at OddThemes do carry a philosophy that: Nothing Is Impossible
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น